รายละเอียดกระทู้
ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
โรงเรียนหนองทุ่มศรีสำราญวิทยา จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้ศึกษา นายประหยัด แก้วพิลึก ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนหนองทุ่มศรีสำราญวิทยา ตำบลศรีสำราญ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ
ปีที่พิมพ์ 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนหนองทุ่มศรี-สำราญวิทยา จังหวัดศรีสะเกษ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินสภาพแวดล้อม 2) ประเมินปัจจัย 3) ประเมินกระบวนการ 4) ประเมินผลผลิต และ 5) ประเมินผลกระทบของโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งนี้เพื่อนำผลการศึกษามาเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานตามโครงการ โดยทำการศึกษากับประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ คณะครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน จำนวน 351 คน ประกอบด้วย ครู 26 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง นักเรียน 159 คน ได้มาโดยกำหนดวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นอย่างเป็นสัดส่วน (Proportionate Stratified Random Sampling) โดยใช้ระดับชั้นเรียนเป็นชั้นของการสุ่มนักเรียน หน่วยการสุ่มใช้การสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสุ่มกลุ่มตัวอย่างอย่างของเคร็จซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan. 1970 : 608) ผู้ปกครองนักเรียน 159 คน ซึ่งเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างและชุมชนซึ่งเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วยแบบสอบถามและแบบสรุปข้อมูล จำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามครูหัวหน้ากิจกรรมย่อยทุกกิจกรรมด้านพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมก่อนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ฉบับที่ 2 แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมด้านปัจจัยในการดำเนินการตามโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ฉบับที่ 3 แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อกระบวนการดำเนินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ฉบับที่ 4 แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียน ตามโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ฉบับที่ 5 แบบสรุปผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนหนองทุ่มศรีสำราญวิทยา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ฉบับที่ 6 แบบสรุปผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรฐานที่ 14 ด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ฉบับที่ 7 แบบสอบถามความคิดเห็นของครูเกี่ยวกับการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมและพัฒนางานของครู ตามโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ฉบับที่ 8 แบบสอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ฉบับที่ 9 แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองและชุมชนที่มีต่อโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาบรรยายสรุปในเชิงพรรณนาและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินประเด็นสภาพแวดล้อมของโครงการ โดยการประเมิน 4 ตัวชี้วัด พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 1 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์โครงการและอยู่ในระดับมาก 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความต้องการจำเป็นของโครงการ ความเหมาะสมของกิจกรรม และความเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการ
2. ผลการประเมินประเด็นปัจจัยของโครงการ โดยการประเมิน 5 ตัวชี้วัด พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ เอกสารในการจัดกิจกรรมมีความเหมาะสม วัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือมีเพียงพอ ความชัดเจนของงบประมาณและด้านสถานที่จัดกิจกรรมมีความเหมาะสม ซึ่งอยู่ในระดับมาก จำนวน 1 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความเหมาะสมของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ
3. ผลการประเมินประเด็นกระบวนการจัดกิจกรรมของโครงการ โดยการประเมิน 1 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินประเด็นผลผลิตของโครงการ โดยการประเมิน 2 ตัวชี้วัด พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด อยู่ในระดับมาก จำนวน 1 ตัวชี้วัด ได้แก่ พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียน และอยู่ในระดับปานกลาง 1 ตัวชี้วัด ได้แก่ คุณภาพนักเรียนตามมาตรฐานการศึกษา
5. ผลการประเมินประเด็นผลกระทบของโครงการ โดยการประเมิน 3 ตัวชี้วัด พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความพึงพอใจของครูที่มีต่อการดำเนินโครงการ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมและพัฒนางานของครู อยู่ในระดับมาก 1 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความพึงพอใจของผู้ปกครองและชุมชนที่มีต่อการดำเนินโครงการ
|