รายละเอียดกระทู้
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) เรื่อง สารเสพติด กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาสุขศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) เรื่อง สารเสพติด กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและ พลศึกษา 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) เรื่อง สารเสพติด กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา และ 4)เพื่อประเมิน ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) เรื่อง สารเสพติด กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ในการวิจัยนี้ ผู้วิจัยนำแบบแผนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันและปัญหาการจัดการเรียนการสอนสุขศึกษา ขั้นที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 3 การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ และขั้นที่ 4 การประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) 2) คู่มือครูแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบประเมินทักษะชีวิต และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าประสิทธิภาพ (E1/ E2) ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สถิติที (t - test แบบ Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพและปัญหาการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต พบว่า โดยรวมมีสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.51) โดยด้านที่เป็นปัญหาอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้/กลยุทธ์การสอน เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้นักเรียนไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ รองลงมาคือ กระบวนการสอนไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกทางด้านความคิดและทักษะต่าง ๆ เช่น การสื่อสาร การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา รองลงมา กระบวนการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ ทักษะ/กระบวนการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ส่วนด้านอื่น ๆ เป็นปัญหาอยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านสื่อ นวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ และด้านการวัดผลและประเมินผล
2. ผลการสร้างและพัฒนารูปแบบ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) เรื่อง สารเสพติด กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่พัฒนาขึ้น มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กระบวนการเรียนการสอนและการวัดและการประเมินผล ซึ่งกระบวนการเรียนการสอน ประกอบด้วย 7 ขั้น คือ ขั้นกำหนดตัวอย่างปัญหา (Problem Example : P) ขั้นระดมสมอง (Brainstorm : B) ขั้นรู้ปัญหา (Know the problem : K) ขั้นพิจารณา (Consider : C) ขั้นเลือกทางที่ดีที่สุด (Choose : C) ขั้นชี้แจง (Clarify : C) และขั้นสรุปความคิดรวบยอด (Conclusion : C) และการวัดและประเมินผลการใช้รูปแบบ และรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.80/82.72 ถือว่ามีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้
3. ผลการนำรูปแบบไปใช้ พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) เรื่อง สารเสพติด กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาสุขศึกษาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และมีทักษะชีวิตเกี่ยวกับการจัดการหรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติดอยู่ในระดับดีทุกทักษะ (ค่าเฉลี่ย 2.68) ได้แก่ ทักษะการตระหนักรู้ในตนเองและผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการติดสินใจ และทักษะการแก้ปัญหา
4. ผลการประเมินผลการใช้รูปแบบ พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต (PBK-4C Model) เรื่อง สารเสพติด กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีความพึงพอใจต่อการเรียน อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.52)
https://pbk.ac.th/wp-content/uploads/2021/08/3.%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD....pdf
|